วัยทอง: 2 อาการด้านร่างกายและจิตใจในเพศหญิง

โดย : Admin Besinsthailand วันที่เผยแพร่ : 23 กรกฎาคม 2566
แชร์ข้อมูล
วัยทอง

เช็กลิสต์อาการ “วัยทอง” ในเพศหญิง

วัยทองหญิง หรือ Menopause คือสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจที่ผู้หญิงทุกคนจะต้องประสบเมื่อถึงวัย ซึ่งเกิดจากฮอร์โมนเพศจากรังไข่ที่ลดลง พบได้ในสตรีที่ขาดประจำเดือนติดต่อกันเป็นเวลาหนึ่งปีเป็นต้นไป อาการหมดประจำเดือนนี้อาจเกิดขึ้นในช่วงอายุที่แตกต่างกันไปตามสภาพร่างกายของแต่ละคน ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงปลายอายุ 40 ถึงต้นอายุ 50 ปี หรือสตรีที่ได้รับการผ่าตัดรังไข่ออกทั้งสองข้าง

เมื่อฮอร์โมนเพศอย่าง เอสโตรเจน และ โปรเจสเตอโรนในรังไข่ถูกผลิตออกมาน้อย การเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่างก็เป็นผลที่ตามมา เราอาจเริ่มจาก การสังเกตตัวเรา และเช็คลิสต์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย และการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ

1. อาการทางร่างกายของ วัยทองหญิง

ร้อนวูบวาบ 

คือ อาการที่คุณรู้สึกว่าอุณหภูมิในร่างกายพุ่งสูงขึ้นในบางช่วงเวลา คนส่วนใหญ่จะรู้สึกกับร่างกายท่อนบน เหงื่อออกมากผิดปกติ มึนหัว ใจสั่น บางคนถึงกับมีอาการหน้าแดง ผิวแดงเป็นจ้ำๆ อาการร้อนวูบวาบนี้อาจเกิดขึ้นได้ทุกวัน และวันละหลายครั้ง เมื่ออาการร้อนวูบวาบหายไป คุณจะรู้สึกหนาว ส่งผลให้เกิดอาการหงุดหงิด นอนไม่หลับ อาการนี้อาจเกิดในสตรีตั้งแต่ช่วงใกล้วัยหมดประจำเดือน ต่อเนื่องกันหลายปี จนถึงวัยหมดประจำเดือน 

ผิวหนังแห้งเหี่ยว 

เมื่อฮอร์โมนเพศลดลงความยืดหยุ่นและชุ่มชื้นของผิวหนังก็ลดลงด้วยเช่นกัน

ช่องคลอดแห้ง

เกิดจากการขาดฮอร์โมนเพศ เนื้อเยื่อช่องคลอดขาดความยืดหยุ่นและชุ่มชื้นส่งผลให้เกิดอาการเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ 

กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ และกระบังลมหย่อน

เกิดจากการที่ช่องคลอดและกระเพาะปัสสาวะฝ่อลีบ หย่อนตัวลง ปัสสาวะบ่อย และมีอาการแสบที่ช่องทางออกของท่อปัสสาวะ และหากเนื้อเยื่อหย่อนมาก ผนังช่องคลอดและมดลูกจะเคลื่อนลงต่ำจนออกมานอกปากช่องคลอด หรือที่เราเรียกกันว่า “กระบังลมหย่อน”

ท้องอืดและท้องผูก

เกิดจากการที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ลำไส้จึงเคลื่อนไหวช้าลง ประกอบกับการที่ฟันไม่ค่อยดีทำให้ไม่ค่อยได้รับประทานอาหารที่มีกาก ส่งผลให้เกิดอาการท้องอืดและท้องผูก 

โรคหัวใจ

สภาวะที่เกี่ยวข้องกับหัวใจของคุณที่อาจเกิดขึ้นในช่วงวัยหมดประจำเดือน เช่น อาการเวียนศีรษะหรือใจสั่น ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลงทำให้หลอดเลือดแดงขาดความยืดหยุ่นจนส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือด ทำให้ไขมันไปเกาะที่ผนังหลอดเลือด เกิดอาการหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อคุณมีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว หรือเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน น้ำหนักมาก สูบบุหรี่ ดื่มสุรา มีระดับคอเลสเตอรอลสูงและมีความเครียดสูง 

กระดูกบาง และกระดูกพรุน

เมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ระดับแคลเซียมในกระดูกของคุณก็จะลดลงด้วย ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคกระดูกพรุน หรือกระดูกบาง นอกจากนี้อาจทำให้กระดูกสะโพก กระดูกข้อมือ และ กระดูกสันหลังของคุณอ่อนแอมากขึ้น จนเกิดอาการกระดูกยุบตัว กระดูกหักในบริเวณเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น ผู้หญิงหลายคนประสบปัญหากระดูกในช่วงสองสามปีแรกหลังจากการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย


2. อาการทางด้านจิตใจและอารมณ์ 

เช่น อาการลืมง่าย หงุดหงิด ไม่มีสมาธิ กลัว ซึมเศร้า และรู้สึกไม่มั่นคงทางจิตใจ ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นจากการที่เซลล์สมองที่ฝ่อลง และส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการไม่ได้รับความเข้าใจและการเอาใจใส่จากบุคคลใกล้ชิด

ทั้งนี้สตรีที่ประสบกับปัญหาวัยทอง ในเบื้องต้นอาจต้องหันมาดูแลเอาใจใส่สุขภาพร่างกาย ซึ่งทำได้ง่ายๆด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ปรึกษาแพทย์ และหากิจกรรมที่เหมาะสมกับตนเองทำในยามว่างเพื่อส่งเสริมความมั่นใจและสร้างคุณค่าให้กับตนเอง

ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.healthline.com/health/menopause/menopause-facts#outlook
https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/577

 

บทความที่น่าสนใจ