ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายก่อนวัยอันควร: สัญญาณเตือนในผู้ชายอายุต่ำกว่า 30 ปี
เมื่อพูดถึง “วัยทอง” ในเพศชาย หรือ ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย คุณอาจนึกว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ชายวัยกลางคน หรือ วัยสูงอายุเท่านั้น แต่คุณเชื่อหรือไม่ว่า วัยทองในเพศชายสามารถเกิดกับผู้ชายอายุต่ำกว่า 30 ปีได้เช่นกัน
โดยปกติแล้ว ระดับฮอร์โมนเพศชายจะมีปริมาณสูงสุดในผู้ชายช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น และจะลดลงประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ ในแต่ละปี โดยเริ่มลดลงตั้งแต่อายุ 30 ปี แต่ก็มีบางกรณีที่อาจพบว่ามีภาวะฮอร์โมนเพศชายลดลงได้เมื่ออายุยังไม่ถึงวัย
อะไรทำให้ฮอร์โมนเพศชายในวัย “หนุ่ม” ลดลง?
ถึงแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่พบได้น้อยมากในผู้ชายอายุต่ำกว่า 30 ปี แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยปัจจัยทางสุขภาพต่างๆดังนี้:
– ระดับโคเลสเตอรอลสูง
– ความดันโลหิตสูง
– น้ำหนักเกิน หรือ เป็นโรคอ้วน
– ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเกินไป
– ใช้สารเสพติด
– ใช้ยาสเตียรอยด์เพื่อการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ
– ใช้ยาสเตียรอยด์ หรือยาแก้ปวดชนิดเสพติด (กลุ่ม opiates) ในปริมาณที่มากเกินไป
แต่ในบางกรณีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายก็อาจเกี่ยวข้องกับโรคประจำตัว เช่น
– โรคเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง
– อาการบาดเจ็บ หรือเนื้องอกที่อัณฑะ ที่สัมพันธ์กับ อาการคางทูมในวัยเด็ก
– โรคถ่ายทอดทางพันธุกรรมบางอย่าง เช่น Klinefelter Syndrome , Down Syndrome
– โรคเบาหวาน โรคตับ โรคเอดส์
– การรักษาโรคมะเร็งด้วยการฉายแสง และเคมีบำบัด
หากคุณสงสัยว่าคุณอาจประสบกับ ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย ไม่ว่าจะอยู่วัยใดก็ตาม เบื้องต้นแนะนำให้ไป พบแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะเพื่อทำการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาระดับฮอร์โมนเพศชาย หากแพทย์พบว่าระดับฮอร์โมนเพศชายของคุณต่ำกว่าปกติ อาจต้องมีการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบสาเหตุ และวางแผนการรักษาให้เหมาะสม และเฉพาะเจาะจงตามอาการสำหรับแต่ละคน โดยแพทย์จะแนะนำให้เริ่มจาก การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต หรือ การให้ฮอร์โมนเพศชายทดแทนต่อไป
ตรวจเช็กภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายเบื้องต้น ด้วยแบบสอบถามง่ายๆ 10 ข้อได้ตามลิงค์นี้ตรวจเช็กสุขภาพเพศ
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.healthline.com/health/low-testosterone/signs-men-under-30#treatment
ผู้เขียน
นพ.ชัชวาล อุดมโภชน์
ศัลยแพทย์ยูโรวิทยา
โรงพยาบาลบ้านแพ้ว