“สิ่งที่ควรรู้ก่อนรับฮอร์โมนบำบัดเพื่อการข้ามเพศ”

โดย : Admin Besinsthailand วันที่เผยแพร่ : 23 กรกฎาคม 2566
โดย : Admin Besinsthailand วันที่เผยแพร่ : 23 กรกฎาคม 2566
แชร์ข้อมูล
ฮอร์โมนบำบัดเพื่อการข้ามเพศ

สิ่งที่ควรรู้ก่อนรับ ฮอร์โมนบำบัดเพื่อการข้ามเพศ

การใช้ ฮอร์โมนบำบัดเพื่อการข้ามเพศ คืออะไร

การใช้ ฮอร์โมนบำบัดเพื่อการข้ามเพศ (Transgender hormone therapy) จัดเป็นการบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy) แขนงหนึ่ง โดยการใช้ฮอร์โมนเพศ หรือยาฮอร์โมนอื่น ๆ ในกลุ่มคนข้ามเพศ หรือคนที่แสดงออกทางเพศที่ไม่ตรงกับบรรทัดฐานของสังคม เพื่อให้มีลักษณะที่บ่งบอกทางเพศแบบทุติยภูมิ ของเพศที่ต้องการ เช่น ชายเป็นหญิง ที่ต้องการเพิ่มหน้าอกให้กับร่างกายแบบผู้หญิง หรือ หญิงเป็นชาย ที่อยากจะมีเสียงห้าว และหนวดเคราแบบผู้ชาย

จำเป็นต้องได้รับ ฮอร์โมนบำบัดเพื่อการข้ามเพศตลอดหรือไม่

คำตอบคือ คุณยังจำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนไปตลอด จนกว่าคุณตัดสินใจที่จะผ่าตัดเอารังไข่หรืออัณฑะออก และเมื่อนั้นคุณจะได้รับฮอร์โมนลดลง ให้เหลือปริมาณเพียงพอที่จะให้ผลที่คุณต้องการ และเพียงพอที่จะป้องกันโรคกระดูกพรุนเมื่อคุณอายุมากขึ้น และในขณะเดียวกันคุณก็จะสามารถหยุดใช้ยาต้านฮอร์โมน (hormone blocker) ไปพร้อม ๆ กัน

ทำไมถึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลภายใต้แพทย์

การตรวจติดตามสุขภาพจะช่วยให้แพทย์ได้แน่ใจว่ายาฮอร์โมนได้เข้าสู่ร่างกายจริง และช่วยตรวจพบปัญหาสุขภาพได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งแพทย์อาจมีการปรับยา และหรือสั่งยาเพิ่มตามความเหมาะสม แพทย์มีความจำเป็นที่จะต้องรับทราบเกี่ยวกับประวัติการเป็นโรคมะเร็งเต้านม โรคหลอดเลือด หรือโรคตับของคุณรวมทั้งคนในครอบครัว เพื่อแพทย์จะได้แนะนำแนวทางการรักษา และแนวทางติดตามอาการตามความต้องการเฉพาะตัวของคุณ

ทั้งนี้ คุณจำเป็นต้องแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับการรับประทานยาเพื่อรักษาโรคอื่น ๆ อาทิ ยาต้านไวรัสเอสไอวี การมีผลตรวจเลือดเป็นบวกเนื่องจากเชื้อไวรัสเอชไอวีไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้คุณไม่สามารถเข้ารับการรักษาฮอร์โมนบำบัด แพทย์จะติดตามสุขภาพของคุณ ตั้งแต่ความดันโลหิต การตรวจเลือด รวมถึงการตรวจกระดูก ตรวจเต้านม และการตรวจภายใน ทั้งนี้คุณจำเป็นต้องทราบว่าแม้ว่าจะได้รับการตรวจติดตามสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ แต่คุณก็ยังอาจได้รับผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ หากมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจไม่ออก ปวดบริเวณน่อง รวมทั้งปวดศีรษะรุนแรง และหรือบ่อยครั้งแบบผิดปกติ ต้องรีบมาพบแพทย์โดยทันที

ควรดูแลตัวเองระหว่างได้รับ ฮอร์โมนบำบัดเพื่อการข้ามเพศ อย่างไร

คุณควรรับประทานอาหารให้เหมาะสมควบคู่กับการออกกำลังกาย การรับประทานยาบางชนิด การดื่มแอลกฮอล์ที่มากจนเกินไปและโรคอ้วน ล้วนส่งผลต่อการได้รับฮอร์โมนบำบัด อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ และส่งผลต่อโอกาสที่จะได้เข้ารับการผ่าตัด นอกจากนี้การสูบบุหรี่ยังส่งผลเสียต่อตัวคุณเอง และการได้รับ ฮอร์โมนบำบัดมากที่สุด เพราะบุหรี่ลดผลการแสดงความเป็นผู้หญิงของฮอร์โมนเอสโตรเจนต่อร่างกายหญิงข้ามเพศได้

การใช้ฮอร์โมนบำบัดเพื่อการข้ามเพศส่งผลต่อเพศสัมพันธ์อย่างไรบ้าง

ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (testosterone) จะส่งผลให้เกิดความต้องการทางเพศมากขึ้น ดังนั้นในชายข้ามเพศ คุณอาจต้องการมีเพศสัมพันธ์บ่อยครั้ง ขณะที่ในกรณีหญิงข้ามเพศ คุณอาจมีปัญหาเรื่องการแข็งตัวขององคชาต และการถึงจุดสุดยอดทำให้เพศสัมพันธ์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หญิงข้ามเพศหลายคนกล่าวว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านและหลังการเปลี่ยนแปลง พวกเธอดูไม่ค่อยสนใจการมีเพศสัมพันธ์ หากคุณ และคู่ของคุณมีปัญหาเรื่องนี้ อาจต้องมีการเปิดใจพูดคุยกันหรือเข้าพบผู้ให้คำปรึกษาเฉพาะด้าน

ถ้าหากจะลองใช้ยาฮอร์โมนที่ซื้อมาจากอินเทอร์เน็ตได้หรือไม่ ?

คุณอาจจะกำลังตัดสินใจจะซื้อยาฮอร์โมนจากอินเตอร์เน็ตมาใช้เอง หรือหาจากที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่ตามคำแนะนำจากแพทย์ สำหรับบางคนก็อาจจะใช้ยาฮอร์โมนเองไปเองแล้ว และบางคนก็อาจจะแค่อยากลองดูผลลัพท์จากการใช้ฮอร์โมนโดยที่ไม่มีใครทราบ การใช้ยาฮอร์โมนโดยไม่มีใบสั่งยาจากแพทย์ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายของคุณได้ ความเสี่ยงของการใช้ฮอร์โมนโดยไม่มีใบสั่งยาจากแพทย์มีดังต่อไปนี้

  • ผลิตภัณฑ์อาจเป็นของเทียม และไม่ก่อให้เกิดผลใดๆ กับร่างกาย
  • ผลิตภัณฑ์อาจไม่มีคุณภาพ และก่อให้เกิดอันตรายได้
  • คุณอาจไม่ได้รับทราบถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายและผลข้างเคียงจากการใช้ยา
  • คุณอาจไม่ทราบถึงผลที่จะเกิดขึ้นเมื่อใช้ยาฮอร์โมนร่วมกับยาชนิดอื่น หรือยาสมุนไพรต่าง ๆ
  • คุณจะไม่ได้รับการตรวจสุขภาพอย่างเหมาะสมจากแพทย์เพื่อตรวจดูอาการที่อาจเกิดจากยาฮอร์โมน
  • ปริมาณยาที่ใช้ หรือ วิธีใช้ยาฮอร์โมนบางชนิด เช่น ยารับประทาน หรือแผ่นแปะบนผิวหนัง อาจไม่ได้เหมาะสมกับคุณ

ดังนั้นหากคุณได้เริ่มใช้ยาฮอร์โมนด้วยตนเองแล้ว ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อที่แพทย์จะได้วางแผนและสั่งยาที่เหมาะสมกับคุณ

 

ข้อมูลอ้างอิง: 

คู่มือการให้บริการสุขภาพคนข้ามเพศแห่งประเทศไทย (เนื้อหาบทที่ 1-3)

https://www.kamolhospital.com/service/transgender-hormone-therapy/

https://www.scottishtrans.org/wp-content/uploads/2013/06/NHS-A-Guide-to-Hormone-Therapy-for-Trans-People.pdf

บทความที่น่าสนใจ

บทความที่น่าสนใจ