เบาหวานขณะตั้งครรภ์คืออะไร?
เบาหวานขณะตั้งครรภ์เป็นภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเนื่องจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์ มารดาอาจมีภาวะคลอดก่อนกำหนด และทารกอาจมีพัฒนาการที่ไม่สมบูรณ์ เช่น ระบบทางเดินหายใจ ระบบย่อยอาหาร และการพัฒนาของสมอง
วิธีปฏิบัติตัวหากมีความเสี่ยงในการเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์
1. ปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร ลดการทานอาหารจำพวกแป้ง ข้าวเหนียว เส้นก๋วยเตี๋ยว และของทอด
2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดินต่อเนื่องอย่างน้อย 20 นาทีต่อวัน
3. ควบคุมการรับประทานอาหารเป็นมื้อหลักและมื้อรองอย่างเหมาะสมเพื่อลดโอกาสเกิดเบาหวาน
แนวทางการดูแลหากเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
1. ควบคุมอาหาร โดยแบ่งเป็น 6 มื้อ ได้แก่ 3 มื้อหลักและ 3 มื้อรอง ควรเน้นทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ไข่ ปลา และผักต่างๆ
2. การออกกำลังกาย เพื่อเสริมสร้างการเผาผลาญและควบคุมน้ำหนักที่เหมาะสม
3. การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ควรตรวจเลือดหลังอาหารมื้อหลักเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลไม่ให้สูงหรือต่ำเกินไป
4. การฉีดอินซูลิน กรณีที่ไม่สามารถควบคุมด้วยอาหารและการออกกำลังกาย การฉีดอินซูลินถือเป็นทางเลือกที่ปลอดภัย
5. การประเมินการเจริญเติบโตของทารก โดยการตรวจอัลตราซาวด์เพื่อตรวจความสมบูรณ์ของอวัยวะและการนับลูกดิ้นเป็นประจำ
การวางแผนการคลอด
ผู้ที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์สามารถคลอดตามธรรมชาติได้หากทารกอยู่ในช่วงอายุครรภ์ที่เหมาะสม หากทารกมีน้ำหนักเกิน 4,000 กรัม อาจต้องพิจารณาผ่าคลอด
การดูแลหลังคลอด
หลังคลอดควรตรวจระดับน้ำตาลอีกครั้งในช่วง 6-12 สัปดาห์ เพื่อตรวจหาภาวะเบาหวานชนิดที่สอง และควรติดตามสุขภาพของแม่และทารกอย่างใกล้ชิด
ผู้เขียน :
ผศ.นพ.เกียรติศักดิ์ คงวัฒนกุล
หน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น