การใช้ฮอร์โมนทดแทน: แบบไหนที่เหมาะกับคุณ?

โดย : Admin Besinsthailand วันที่เผยแพร่ : 16 ตุลาคม 2567
โดย : Admin Besinsthailand วันที่เผยแพร่ : 16 ตุลาคม 2567
แชร์ข้อมูล
การใช้ฮอร์โมนทดแทน: แบบไหนที่เหมาะกับคุณ?

กิน ทา สอด… ใช้ฮอร์โมนทดแทนตัวไหนดีคะหมอ

หมอเชื่อว่าผู้อ่านสุภาพสตรีหลายท่านคงเคยได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมนไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบยาคุมกำเนิด ฮอร์โมนเพื่อการรักษาโรคทางนรีเวช เช่น โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ โรคเนื้องอกมดลูก การกระตุ้นไข่เพื่อรักษาภาวะมีบุตรยาก การเตรียมผนังมดลูกก่อนการย้ายตัวอ่อนแช่แข็ง ไปจนถึงฮอร์โมนเพื่อรักษาอาการวัยทอง หรืออาจเคยได้รับยาฮอร์โมนในรูปแบบที่คุ้นเคย เช่น รับประทาน ฉีด และในรูปแบบที่ไม่เคยคุ้น เช่น แผ่นแปะผิวหนัง เจลทาผิวหนัง สอดช่องคลอดไม่ว่าจะเป็นแคปซูล เม็ด แท่งยา ห่วง ฯลฯ และ

หมอก็เชื่อว่าทุกท่านคงมีข้อสงสัยว่า ทำไมหมอต้องให้ใช้ยาในรูปแบบเหล่านี้ด้วย วันนี้หมอจะมาไขข้อสงสัยกันครับ

ฮอร์โมนทดแทนมีกี่ประเภท

เบื้องต้นหมอขอแบ่งวิธีใช้ฮอร์โมนเหล่านี้เป็น 3 วิธี คือ รับประทาน ทาผิวหนัง และสอดช่องคลอดครับ

การที่ฮอร์โมนเพื่อการรักษามีหลายรูปแบบบ่งบอกถึงความแตกต่างกันของฮอร์โมนทดแทนแต่ละชนิด ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด สัดส่วนของฮอร์โมนที่จะไปถึงอวัยวะเป้าหมาย ผลข้างเคียงและผลต่อระบบอื่น ๆ ของร่างกายดังแสดงใน รูปที่ 1

pastedGraphic.png

รูปที่ 1 แสดงการใช้ฮอร์โมนในรูปแบบต่าง ๆ A. รูปแบบรับประทาน B. ทาผิวหนัง เช่น เจล ครีม แผ่นแปะ C. สอดช่องคลอด

1. ฮอร์โมนทดแทนรูปแบบรับประทาน(oral preparation) ฮอร์โมนในรูปแบบนี้เป็นที่คุ้นเคยของคนไข้ส่วนใหญ่เนื่องจากบริหารยาสะดวก ไม่ยุ่งยาก เช่น ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม ฮอร์โมนเอสโตรเจน ฮอร์โมนโปรเจสโตรเจน และฮอร์โมนชนิดรวมเพื่อรักษาอาการวัยทอง ซึ่งมีมากมายหลายชนิดในท้องตลาด

ข้อดี ฮอร์โมนรูปแบบรับประทานนอกจากจะสะดวกในการใช้ แล้วยังมีผลดีต่อไขมันและคอเลสเตอรอล เนื่องจากร้อยละ 80 ของฮอร์โมนที่รับประทานเข้าไปจะถูกกรองผ่านตับเพื่อขับทิ้ง การกรองผ่านตับนี้เองที่กระตุ้นให้ตับทำงานขับ LDL-C ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลไม่ดีออกไป และสร้าง HDL-C ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลที่ดีเพิ่มมากขึ้น

ข้อเสีย ของการใช้ฮอร์โมนรูปแบบรับประทานคือ

ฮอร์โมนรูปแบบรับประทาน มักต้องมีการปรับโครงสร้างของฮอร์โมนโดยการเติมส่วนต่อของโมเลกุลเข้าไปเพื่อให้คงทนต่อน้ำย่อยในระบบทางเดินอาหารซึ่งอาจทำให้การดูดซึมฮอร์โมนไม่ดีในผู้ป่วยบางราย

นอกจากนี้การกรองผ่านตับตั้งแต่แรกทำให้ต้องได้ฮอร์โมนในขนาดที่สูงกว่ารูปแบบอื่นเพื่อให้ได้ระดับฮอร์โมนที่ต้องการในอวัยวะเป้าหมาย

ฮอร์โมนรูปแบบรับประทานจะไปกระตุ้นตับให้สร้างไขมันชนิด triglyceride เพิ่มขึ้นซึ่งอาจเป็นข้อห้ามในผู้ป่วยที่มีระดับ triglyceride สูงอยู่แล้ว และผู้ป่วยที่มีโรคตับวายเฉียบพลัน

นอกจากนี้ฮอร์โมนที่ถูกกรองออกไปจากตับมักเปลี่ยนเป็นฮอร์โมนที่มีความแรงน้อยลง และในบางครั้งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ง่วงนอน เวียนศีรษะ

2. ฮอร์โมนทดแทนชนิดใช้ผ่านผิวหนัง (transdermal preparation) ผิวหนังของเราถือว่าเป็นอวัยวะที่มีพื้นที่ผิวมากที่สุดในร่างกายทำให้ยาที่ดูดซึมผ่านผิวหนังได้เข้าสู่กระแสเลือดได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านตับเพื่อกรองก่อน ฮอร์โมนที่มีใช้ในรูปแบบผ่านผิวหนัง เช่น ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมชนิดแผ่นแปะผิวหนัง ฮอร์โมนเอสโตรเจนชนิดเจล และฮอร์โมนเอสโตรเจนชนิดแผ่นแปะผิวหนัง ฮอร์โมนรูปแบบนี้อาจจะไม่ค่อยเป็นที่คุ้นเคยนัก แต่ใช้สะดวก ฮอร์โมนชนิดแผ่นแปะผิวหนังแผ่นหนึ่งจะปล่อยฮอร์โมนออกมาอย่างต่อเนื่องได้ถึง 7 วันซึ่งช่วยลดโอกาสการลืมใช้ฮอร์โมนได้

ข้อดี ของฮอร์โมนชนิดใช้ผ่านผิวหนังนอกจากจะใช้งานสะดวก แล้วยังมีผลในการลดโคเลสเตอรอลชนิด LDL และเพิ่มโคเลสเตอรอลชนิด HDL (แต่ผลจะน้อยกว่าฮอร์โมนชนิดรับประทาน) โดยไม่เพิ่มไขมันชนิด triglyceride ช่วยให้ร่างกายตอบสนองต่อฮอร์โมนอิสซูลินดีขึ้น ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูง รวมทั้งทำให้ความดันโลหิตไม่เพิ่มขึ้น และไม่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ

ข้อเสีย อาจทำให้ผิวหนังบริเวณที่ใช้มีอาการระคายเคือง โดยเฉพาะรูปแบบเจลซึ่งเป็นแอลกอฮอล์เจลและแผ่นแปะผิวหนังซึ่งอาจหลุดได้หากผู้ป่วยมีเหงื่อออกมาก นอกจากนี้การทาอย่างถูกต้องมีผลอย่างมากต่อประสิทธิภาพในการรักษา โดยทั่วไปแนะนำให้ทาบาง ๆ บนผิวหนังที่สะอาดให้ได้พื้นผิวที่กว้างที่สุดเพื่อให้เกิดการดูดซึมที่ดีที่ดีสุด โดยสามารถทาครีมบำรุงผิวทับหรือใส่เสื้อผ้าทับได้หลังจากที่ฮอร์โมนซึมไปหมดแล้ว

3. ฮอร์โมนชนิดสอดช่องคลอด (vaginal preparation) การใช้ฮอร์โมนรูปแบบนี้มักทำให้คนไข้สตรีชาวไทยตะขิดตะขวงใจมากที่สุด ฮอร์โมนที่ใช้รูปแบบสอดช่องคลอดนี้มักเป็นฮอร์โมนที่เราคาดหวังผลการรักษาที่บริเวณอวัยวะข้างเคียง เช่น ช่องคลอดเอง มดลูก เยื่อบุโพรงมดลูก เป็นต้น และฮอร์โมนที่ใช้สอดช่องคลอดมักดูดซึมผ่านการรับประทานไม่ดี หรือดูดซึมผ่านการรับประทานแล้วรูปแบบฮอร์โมนจะเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบที่มีฤทธิ์อ่อนกว่าซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในผู้ป่วยมีบุตรยาก และผู้ป่วยที่มีอาการวัยทอง

ข้อดี ของฮอร์โมนสอดช่องคลอดคือมีผลข้างเคียงน้อย ไม่ต้องใช้ฮอร์โมนขนาดสูงมาก นอกจากนี้ผลดีต่อระบบอื่น ๆ ของร่างกายก็มีเช่นเดียวกับฮอร์โมนชนิดใช้ผ่านผิวหนัง เมื่อสอดฮอร์โมนผ่านช่องคลอดพบว่าจะทำให้ระดับฮอร์โมนในมดลูกสูงมากกว่ากระแสเลือดมาก ซึ่งเป็นผลดีคือไม่ทำให้มีอาการข้างเคียงจากฮอร์โมนสูงในกระแสเลือด เช่น เวียนศีรษะ คัดตึงเต้านม เป็นต้น

ข้อเสีย นอกจากต้องสอดช่องคลอดซึ่งคุณผู้หญิงหลายคนรู้สึกไม่ถนัด ไม่สะดวกที่จะตัองสอดอะไรเข้าไปในช่องคลอดของตัวเอง กากยาหลังจากที่ตัวฮอร์โมนถูกดูดซึมไปหมดแล้วอาจตกค้างสะสม และออกมาเป็นตกขาว ทำให้เลอะเทอะ และอาจต้องใช้แผ่นอนามัยได้

เล่ากันมาพอสมควร ผู้อ่านพอจะได้วิธีใช้ฮอร์โมนในดวงใจไหมครับ สุดท้ายนี้หวังว่าผู้อ่านทุกท่านคงมีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับรูปแบบที่แตกต่างกันของฮอร์โมนที่หมอสูตินรีแพทย์ใช้กันเป็นประจำนะครับ จะได้ไม่ต้องคิ้วขมวด หรือทำหน้าประหนึ่งว่าหมอเป็นคนทะลึ่งสัปดนที่จะให้เอาอะไรไปสอดช่องคลอดตัวเองเสียทีครับ

ผู้เขียน :

อ.นพ. พัฒน์ศมา วิจินศาสตร์วิจัย

หน่วยเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

pastedGraphic_1.png

บทความที่น่าสนใจ

บทความที่น่าสนใจ